You are here: Home
จดหมายข่าวฉบับย้อนหลัง
ปีที่ 37 ฉบับที่ 3
ปีที่ 37 ฉบับที่ 3
โซเชียลมีเดียกับการสื่อสารด้านสุขภาพ




ปัจจุบันคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากสถิติปี 2559 พบว่ากลุ่มเจนวาย (เกิดปี พ.ศ. 2523 ถึง 2540) ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ 54.2 ช.ม/สัปดาห์ (7.7 ช.ม/วัน) เพิ่มขึ้นจาก 6 ช.ม/สัปดาห์ ในปี พ.ศ. 2544 ขณะที่กลุ่มเบบี้บูม(เกิดปี พ.ศ. 2489 ถึง 2507) ใช้อินเทอร์เน็ตน้อยที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่ 32.5 ช.ม/สัปดาห์ (4.6 ช.ม/วัน) เกี่ยวกับการใช้งานโซเชียลมีเดียพบว่าคนไทยมากถึงร้อยละ 92.1, 85.1, 43.9 และ 21.0 ใช้บริการเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ตามลำดับ กล่าวได้ว่า สื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารของผู้คน ที่รวดเร็ว เข้าถึงได้ง่าย มีบทบาทมากในสังคมไทย ณ ขณะนี้
แต่ละวัน ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียจะได้รับข้อมูลหลายด้าน รวมถึงด้านสุขภาพ บางครั้งมีการอ้างอิงบุคคลที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือ ซึ่งทำให้คนจำนวนมากเชื่อถือและปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ได้ให้ข้อคิดว่า “การรู้เท่าทันด้านสุขภาพ” มีหลักการสำคัญ 4 ข้อ คือ เข้าถึงข้อมูล ค้นหาข้อมูล ประเมินและเข้าใจได้ถูกต้อง และนำไปประยุกต์ได้ จะช่วยให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะเชื่อและปฏิบัติตาม ผู้ให้ข้อมูล คำแนะนำที่เผยแพร่ ควรจะต้องถูกต้อง เข้าใจง่าย ใช้ภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจ ไม่ใช้ศัพท์ทางการแพทย์
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การบริหารจัดการและสื่อสารข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพสู่สาธารณะ ควรต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน เชื่อถือได้ เข้าใจง่าย เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ไม่เป็นผลลบต่อสังคม ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งในเรื่องนี้ ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญกับความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้กับทุกคนในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมาจากหลายช่องทาง โดยควรมีกลไกคัดกรองความรู้และข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพและระบบเฝ้าระวัง ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายผู้บริโภค มีระบบคุ้มครองการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพ
ในยุคที่มีการแชร์ข้อมูลกันแบบสนั่นโซเชียลมีเดีย ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน ดังนั้น ทุกคนควรรู้เท่าทันข้อมูลก่อนตัดสินใจเชื่อ เพื่อจะไม่ตกเป็นเหยื่อจนสูญเสียสุขภาพได้
ที่มา:
ฐนิต วินิจจะกูล. “โซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีกับการสื่อสารทางโภชนาการ” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://sheacademy.in.th/?p=971 (5 มกราคม 2560)
แพรวพรรณ สุริวงศ์. “รู้เท่าทันข้อมูลสุขภาพ ยุคโซเชียล” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.thaihealth.or.th/Content/34757- รู้เท่าทันข้อมูลสุขภาพ%20ยุค‘โซเชียล’.html (6 มกราคม 2560)
Since 25 December 2012